vip

7.06.2555

ประสบการณ์ลูกสอบเข้ามหาวิทยาลัย


เมื่อสองวันก่อนไปงานเลี้ยงรุ่นได้คุยกับเพื่อนที่มีลูกรุ่นราวคราวเดียวกับตนเองหลายคน พอดีลูกคนโตพึ่งสอบเข้ามหาวิทยาลัยเมื่อปีที่แล้ว เป็นประสบการณ์ที่ประทับใจมาก อยากแบ่งปันให้เพื่อนได้อ่านกันบ้าง ออกตัวไว้ก่อนว่า เป็นเรื่องเฉพาะที่ผมประสบมากับตัว อาจไม่สะท้อนความเป็นจริงทั้งหมดของระบบ ถือว่าเป็นภาพที่มองจากพ่อคนหนึ่งเท่านั้นก็แล้วกัน
เมื่อลูกคนโตต้องสอบแอดมิชชันเข้ามหาวิทยาลัย แรกเลยผมไม่ได้สนใจศึกษาว่าระบบแอดมิชชันเป็นอย่างไร คิดว่าน่าจะคล้ายๆสอบเอนทรานซ์รุ่นผมนี่แหละ อยากเรียนอะไรก็เลือกไล่ตามลำดับ คงแตกต่างเพียงเอาคะแนนผลการเรียน ม.๔-ม.๖ มาคิดด้วย ลูกขึ้น ม.๖ แล้วก็ยังเลือกไม่ได้ว่าจะเรียนต่ออะไรดี จึงไล่สอบแทบจะทุกอย่าง วิศวะ แพทย์ ไอที เราก็มีหน้าที่ขับรถพาลูกไปสอบ สักพักเริ่มรู้สึกแปลกใจเพราะสอบเยอะเหลือเกินแทบจะสัปดาห์เว้นสัปดาห์ ทำไมมันถึงสอบมากมายขนาดนี้ พอเริ่มศึกษาระบบกลายเป็นตกใจแทน
การสอบแอดมิชชันมีสอบ O-Net ที่สอบได้ครั้งเดียวคล้ายกับเอนทรานซ์ และสอบ GAT กับ PAT ที่สอบได้หลายครั้งแล้วเลือกเอาครั้งที่คะแนนดีที่สุดส่ง สอบแต่ละครั้งก็มีค่าใช้จ่าย และ PAT ไม่ใช่สอบข้อสอบเดียวนะ มี PAT1 PAT2 PAT3 PAT… แล้วแต่ว่า คณะไหนมหาวิทยาลัยไหนจะเลือกใช้ PAT เบอร์อะไร อยากเข้าหลายคณะก็ต้องสอบหลาย PAT
O-Net GAT PAT สอบอะไร จนบัดนี้ผมยังงงอยู่ ลูกพูดให้ฟังหลายครั้งก็จำไม่ได้ มันเยอะและฟังวุ่นวายสับสนมาก
การเลือกคณะและมหาวิทยาลัย ไม่ใช่เรียงคะแนน O-Net อย่างเดียว แต่เอา GAT PAT และ GPA มาผสมด้วยในสัดส่วนแตกต่างกันของแต่ละคณะ ดังนั้นสูตรผสมมากมายมหาศาล ไม่ใช่เรียงตามคะแนนสอบง่ายๆเหมือนรุ่นผม แค่จะเลือกคณะไหน มหาวิทยาลัยไหน ก่อนหลังยังยากเลย
ปัญหาใหญ่คือปีที่แล้วผลแอดมิชชันประกาศก่อนเปิดเทอมเพียง ๑ เดือนเท่านั้น คราวนี้ก็เครียดละสิ หากมาลุ้นแอดมิชชันแล้วไม่ได้ขึ้นมาก็ตาเหลือก จะหาโรงเรียนกันอย่างไร
เพื่อไม่ให้เครียดมาก ก็ต้องไปสมัครโครงการพิเศษก่อน แต่ละคณะของแต่ละมหาวิทยาลัยมักมีโครงการพิเศษของตนที่จะรับสมัครก่อนแอดมิชชัน เริ่มต้นกันตั้งแต่เทอมแรกของปีเลย แต่ละโครงการก็มีความต้องการแตกต่างกันเช่นต้องสอบ TOEFL SAT ภาษาอังกฤษของมหาวิทยาลัยเอง หรืออะไรก็ตามที่หลักสูตรนั่นจะนำมาใช้วัดผล
ลูกไม่ได้ตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะเรียนคณะอะไรที่ไหน จึงต้องดูเงื่อนไขของคณะมหาวิทยาลัยที่อยู่ในเกณฑ์และทำการสอบตามเงื่อนไขของแต่ละที่ ในบางวิชาหากสอบไม่ได้ดี ก็สามารถสอบใหม่เอาคะแนนใหม่ได้ นี่คือที่มาว่า ทำไมผมต้องไปส่งลูกสอบเดือนละประมาณ ๒ ครั้ง
ประทับใจมากที่สุดคือ พาลูกไปสอบวิชาเฉพาะของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่จัดสอบที่อิมแพค เมืองทองธานี ผมพาลูกไปแต่เช้า เห็นรถตู้หลายคันขนเด็กนักเรียนมาจากต่างจังหวัด ตามสนามหญ้ามีคนปูเสื่อนอนรอสอบ ลูกเรายังดีอยู่กรุงเทพมาสอบก็ยังเหนื่อยรถติดเลย แล้วรถตู้เหล่านั้นออกจากต้นทางมากี่โมง เด็กนักเรียนได้นอนมาก่อนสอบหรือเปล่า
ทุกครั้งที่ผมพาลูกไปสอบและรอรับลูกกลับ แรกๆจะเอาหนังสือไปด้วยเพื่ออ่านฆ่าเวลา ไม่เคยได้อ่านเลยเพราะคนข้างๆจะชวนคุย หัวข้อสนทนามีเพียงเรื่องเดียว ด่ากระทรวงศึกษาธิการกับคนที่คิดระบบประหลาดๆเหล่านี้ขึ้นมา ผมเดินไปที่ไหนก็เห็นผู้ปกครองนั่งกันเป็นกลุ่ม สนทนาหัวข้อเดียวกันนั่นแหละ
วัตถุประสงค์ของการเปลี่ยนแปลงระบบใหม่คือ ต้องการลดความเครียดของเด็ก ผมไม่รู้ว่ามีวัตถุประสงค์แอบแฝงอื่นอะไรอีกบ้าง แต่วัตถุประสงค์แรกที่แจ้งไว้ดูจะล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ลูกคนนี้เรียนแบบไม่เครียดนะ คือเหมือนรุ่นผมที่รอดูถึง ม.ศ.๕ ได้ว่า อยากเรียนอะไรก็เลือกตามนั้น แต่ปรากฏว่า ปี ม.๖ ลูกผมแทบไม่ได้เรียนหนังสือหรือทำอะไรอย่างอื่นเลย มีแต่สอบกับสอบ เพราะไม่ได้คิดไว้ก่อนว่า อยากเรียนอะไร
พอสอบโครงการพิเศษแล้ว เกิดติดขึ้นมา คณะก็จะเรียกไปมอบตัว มี ๒ แบบคือ มอบตัวจ่ายเงินค่าเทอมแล้วต้องสละสิทธิแอดมิชชัน หรือบางโครงการแค่มอบตัวกับจ่ายค่าเทอมแต่ยังสามารถลุ้นแอดมิชชันได้เหมือนเดิม ค่าเทอมก็ประมาณ ๕๐,๐๐๐ บาท มากน้อยแล้วแต่โครงการ
ลูกไปลองสอบตั้งแต่เทอมแรก ได้วิศวะของสถาบันหนึ่ง อยากเรียน แต่อยากรอผลสอบแพทย์ก่อน เลยต้องสละสิทธิ (เพราะที่สถาบันนี้หากมอบตัวต้องสละสิทธิแอดมิชชัน) แพทย์ก็สอบแยก เพราะบอกว่าระบบแอดมิชชันคัดคนเข้าเรียนแพทย์ไม่ได้ แพทย์ทุกสถาบันจึงรวมกันจัดสอบเอง
ไม่ได้แพทย์ แต่ไปได้ไอทีของอีกสถาบันหนึ่ง โครงการนี้ไม่ต้องสละสิทธิแอดมิชชัน งั้นก็มอบตัวจ่ายค่าเทอมก่อนเพราะลูกเริ่มใจไม่ดี กลัวไม่มีที่เรียน เพื่อนของลูกที่รอแอดมิชชันทำอย่างนี้ทุกคนเพราะกลัวว่า หากไม่ได้แอดมิชชันจะหาที่เรียนไม่ได้
เอาผลสอบ O-Net GAT PAT GPA มาเข้าสูตรคิดคะแนนเทียบกับผลแอดมิชชันปีที่แล้ว ดูแล้วช่างมืดมน ไม่รู้จะติดหรือเปล่า คะแนนเฉียดฉิวมาก
ก่อนผลแอดมิชชันออก โครงการพิเศษต่างๆเริ่มออกใบสมัครให้จ่ายค่าสมัครอีกรอบ เพราะมั่นใจ ๒ ประการ
๑.      ผลแอดมิชชันออกเมื่อไร ต้องมีนักเรียนสละสิทธิเพราะได้แอดมิชชัน
๒.     คนที่ลุ้นแอดมิชชันอยู่ต้องจ่ายค่าสมัครสอบดักไว้ก่อน เผื่อแอดมิชชันไม่ติดจะได้มาสอบโครงการพิเศษเหล่านี้แทนที่คนที่สละสิทธิเพราะติดแอดมิชชัน
ลูกจ่ายค่าสมัครสอบวิศวะของสถาบันเดิมอีกรอบ อย่างที่บอกตอนแรก คืออยากลุ้นแพทย์ก่อน คราวนี้พอไม่ได้แพทย์ก็เริ่มหันกลับมามองวิศวะอีกครั้ง
ผลแอดมิชชันออกมา ลูกได้บัญชีบริหารธุรกิจ จบข่าว ไปสละสิทธิไอที ไม่ไปสอบวิศวะ
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
๑.      พอลูกขึ้น ม.๔ ต้องเริ่มให้ลูกศึกษาแล้วว่า อยากเรียนอะไร โดยเล่าให้ลูกฟัง ไปคุยกับคนที่ทำงานสาขาอาชีพนั้น ไปเยี่ยมเยือนที่ทำงาน ไปเข้าค่าย ฯลฯ อย่าหวังแนะแนวที่โรงเรียนมากเกินไป ต้องคอยสอบถามและให้คำปรึกษาลูกด้วย
๒.     ขึ้น ม.๕ ต้องชัดเจนแล้ว ทำการเลือกคณะและมหาวิทยาลัยรวมทั้งโครงการพิเศษต่างๆที่อยู่ในข่าย เพื่อจะได้เตรียมตัวสอบสำหรับคณะและโครงการนั้นๆ
๓.     ขึ้น ม.๖ ก็สอบและลุ้น ไม่ต้องสอบมากเหมือนลูกผมเพราะรู้แล้วว่าจะเลือกที่ไหนบ้าง
ทั้งหมดนี้ ขึ้นอยู่กับว่า อยู่ดีๆ กระทรวงศึกษาธิการจะเปลี่ยนอะไรอีกหรือเปล่า หากโชคร้ายมีเปลี่ยนแปลงปี ม.๖ พอดี ไอ้ที่เตรียมไว้ก็ช่วยไม่ได้ ต้องศึกษาใหม่เริ่มใหม่ตามดวงแทน
ทำใจไว้สำหรับเพื่อนๆที่มีลูกอยู่มัธยมต้น พอ ม.๔ อย่านิ่งดูดาย ลูกต้องเริ่มเครียดตั้งแต่ ม.๔ เพื่อจะไม่ต้องร้องไห้ตอน ม.๖
หรือหากต้องการคิดนอกกรอบก็น่าจะดี แต่ต้องเริ่มคิดตั้งแต่ลูกอยู่ ม.๔ อย่าไปเริ่มตอน ม.๖ เดี๋ยวจะนอกกรอบไม่ทันการ ยิ่งเครียดและเหนื่อยใหญ่
จนถึงวันนี้ผมยังสงสัยว่า ผู้ปกครองที่ฐานะไม่ดีจะตัดสินใจทำอย่างไรกับสถานการณ์อย่างนี้ ระบบมีความเป็นธรรมกับเด็กที่ฐานะทางบ้านไม่ดีแค่ไหน อะไรคือวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการเปลี่ยนแปลงระบบ อย่าบอกว่าให้เด็กเครียดน้อยลง เพราะไม่ใช่อย่างแน่นอน

ขอขอบคุณประสบการณ์ดีดีจาก http://www.oknation.net/blog/print.php?id=785886

กด Like แล้วติดตามการอัพเดตได้ในหน้าแรกFacebook ตลอด "รับตรง@Admissions"

ติดต่อ-สอบถาม พูดคุยกันจ้า