7.13.2555
8 สุดยอม มหาวิทยาลัย คุณภาพดีมาก
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
มหาวิทยาลัยขอนแก่น
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต
มหาวิทยาลัยรังสิต
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร
ที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เมื่อวันที่ 12 ก.ค.55 นายชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการ สมศ. เปิดเผยผลการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม (พ.ศ.2554-2558) ประจำปีงบประมาณ 2554 ว่า ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีสถานศึกษาที่เข้ารับการประเมิน 7,985 แห่ง จากจำนวนสถานศึกษาทั้งหมดที่ต้องประเมินในรอบสาม 34,404 แห่ง แบ่งเป็น สังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) 422 แห่ง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) 191 แห่ง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 7,042 แห่ง สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) 2 แห่ง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 328 แห่ง โดยได้รับการรับรองมาตรฐานระดับดีมาก 333 แห่ง คิดเป็น 4.17% ระดับดี 5,357 แห่ง คิดเป็น 67.09% และไม่รับรองมาตรฐาน 2,295 แห่ง คิดเป็น 28.74%
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาผลการประเมินเป็นรายตัวบ่งชี้ พบว่า สถานศึกษาได้ผลการประเมินรายตัวบ่งชี้อยู่ในระดับดีขึ้นไปมากกว่า 90% ยกเว้นตัวบ่งชี้ที่ 5 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน มีสถานศึกษาได้ผลการประเมินระดับดีขึ้นไปเพียง 1,466 แห่ง คิดเป็น 18.36% โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้สถานศึกษามีผลการประเมินต่ำกว่าระดับดี คือ ครูไม่ครบชั้น ครูสอนไม่ตรงสาขา ขาดสื่ออุปกรณ์ เป็นต้น
ผอ.สมศ. กล่าวต่อไปว่า เมื่อวิเคราะห์ผลการประเมินตามสังกัดของสถานศึกษา พบว่า กลุ่มโรงเรียนสาธิต มีผลการประเมินอยู่ในระดับดีมาก มากที่สุด 2 แห่ง คิดเป็น 100% รองลงมาคือโรงเรียนเอกชน 15 แห่ง คิดเป็น 7.85% กทม. 27 แห่ง คิดเป็น 6.40% สพฐ. 288 แห่ง คิดเป็น 4.09% และอปท. 1 แห่ง คิดเป็น 0.31% ส่วนระดับคุณภาพดีนั้น พบว่า สถานศึกษาสังกัด กทม.อยู่ในระดับดีมากที่สุด 353 แห่ง คิดเป็น 83.65% และสถานศึกษาที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน พบว่า สถานศึกษาสังกัด อปท.ไม่ได้รับรอง 107 แห่ง คิดเป็น 32.62% รองลงมาได้แก่ สพฐ. 2,119 แห่ง คิดเป็น 30.09% สช. 27 แห่ง คิดเป็น 14.14% และ กทม. 42 แห่ง คิดเป็น 9.95% โดยสถานศึกษาที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในภาคอีสาน ภาคตะวันออก และภาคใต้
"โรงเรียนที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานส่วนใหญ่ ยังเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก และเมื่อวิเคราะห์ผลการประเมินรอบสาม เปรียบเทียบกับรอบสอง และรอบแรก พบว่า โรงเรียนสังกัด สพฐ.มีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่เมื่อดูในภาพรวมทุกสังกัดแล้ว พบว่า มีโรงเรียนที่ไม่มีพัฒนาการ หรือคะแนนประเมินลดลง 4,962 แห่ง คิดเป็น 62.24% พัฒนาการคงที่ 2,155 แห่ง คิดเป็น 27.03% และมีพัฒนาการดีขึ้น 855 แห่ง คิดเป็น 10.73% ซึ่งหลังจากนี้ สมศ. จะเข้าไปดูโรงเรียนที่ไม่มีพัฒนาการ ว่าเป็นเพราะเหตุใดเพื่อพัฒนาแก้ไขให้ตรงจุด"
นายชาญณรงค์ กล่าวและว่า สำหรับผลการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม กลุ่มสถานศึกษาอาชีวศึกษาของรัฐและเอกชน ได้รับการประเมิน 179 แห่ง จากทั้งหมดที่ต้องประเมิน 807 แห่ง แยกเป็นของรัฐผ่านการประเมิน 75 แห่ง ในจำนวนนี้มี 14 แห่งอยู่ในระดับดีมาก ส่วนของเอกชนผ่านการรับรอง 31 แห่ง และไม่รับรอง 15 แห่ง ส่วนสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับการประเมิน 72 แห่ง 703 คณะ พบว่าผ่านการรับรอง 45แห่ง และผ่านมีเงื่อนไข 2 แห่ง ในจำนวนนี้มีผลการประเมินระดับดีมาก ได้แก่ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ม.เชียงใหม่ ม.เทคโนโลยีสุรนารี ม.ขอนแก่น ม.ราชภัฏภูเก็ต ม.รังสิต และ ม.เทคโนโลยีมหานคร
Credit http://unigang.com/Article/11615