vip

6.09.2555

สพฐ.ดัน “เด็กดี” ไม่ต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัย ชี้ ผลการเรียนดีกว่า “รับตรง”

สพฐ.จับมือ ทปอ.-สกอ.เปิดโครงการเด็กดีมีที่เรียน เพื่อส่งเสริมเด็กดีมีคุณธรรมให้เข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยในระบบโควตาพิเศษได้โดยไม่ต้องสอบแข่งขัน ชี้ ผลประเมินการเรียน “เด็กดี” สูงกว่า “รับตรง” แนะทุกมหาวิทยาลัยเปิดพื้นที่ให้คนดี
 
       วันนี้ (8 มิ.ย.) นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ร่วมกับ ดร.วราภรณ์ สีหนาม รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และศ.ดร.สมคิด เลิศไพบูลย์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการส่งเสริมนักเรียนผู้มีคุณธรรม จริยธรรม และบำเพ็ญประโยชน์เข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาในระบบโควตาพิเศษ โดยไม่ต้องสอบแข่งขัน (โครงการเด็กดีมีที่เรียน)
      
       นายชินภัทร กล่าวว่า โครงการนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2549 ที่จังหวัดนครปฐม เป็นที่แรก ก่อนจะขยายผลไปยังเขตพื้นที่การศึกษาในจังหวัดต่างๆ จ.นครปฐม จึงถือเป็นโครงการต้นแบบหรือใช้ชื่อ “นครปฐมโมเดล” โดยทาง สพฐ.ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน รับเด็กดีเข้าไปศึกษาต่อโดยไม่ต้องสอบแข่งขัน ในสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ซึ่งพบว่านักศึกษาที่เข้ามาเรียนภายใต้โครงการดังกล่าว มีผลการเรียนที่ดี ไม่แตกต่างจากนักศึกษาที่สอบแข่งขันเข้ามาเรียนในระบบแอดมิชชัน และรับตรง การประเมินผลการเรียนจึงเป็นเครื่องการันตรีได้ว่าคุณภาพทางการเรียนของเด็กดี ไม่มีความแตกต่างจากเด็กที่สอบแข่งขันเข้ามา ซึ่งที่ผ่านมา มีนักเรียนเข้าร่วมโครงการแล้วประมาณ 3,300 คน
      
       “โครงการนี้ถือเป็นโครงการที่ดี และเป็นการส่งสัญญาณให้นักเรียนและเยาวชนได้ทราบว่า จุดมุ่งหมายของการศึกษานั้น เราไม่ได้มุ่งหวังเฉพาะให้นักเรียนเรียนเก่งเพียงอย่างเดียว แต่เราส่งสัญญาณให้ทราบว่านักเรียนที่มีความประพฤติดี มีโอกาสในการเข้าเรียนในระดับที่สูงขึ้นเช่นเดียวกัน ดังนั้น โครงการนี้จึงต้องได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ฉะนั้น การคัดเลือกนักเรียนที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ต้องเป็นสิ่งที่เชื่อถือได้และมีความยุติธรรม” นายชินภัทร กล่าว
      
       นายชินภัทร กล่าวอีกว่า โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 ซึ่ง สพฐ.จะเน้นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา เพิ่มการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและเพิ่มการมีส่วนรวมของสังคมในการจัดการศึกษาให้มากขึ้น
      
       น.ส.วีณา อัครธรรม ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ.กล่าวว่า จากการติดตามการดำเนินงานโครงการ พบว่า บุคลากรทางการศึกษา ตั้งแต่ผู้บริหารจนถึงอาจารย์ในมหาวิทยาลัยทุกคนเห็นด้วยกับโครงการ เพราะเป็นการให้โอกาสกับเยาวชนที่ทำความดี มีคุณธรรม ช่วยเหลือสังคม ซึ่งที่ผ่านมา การคัดเลือกเด็กดี จะดูที่มีความเป็นผู้นำ มีจริยธรรมที่ดี ช่วยอนุรักษ์พัฒนาสิ่งแวดล้อม และช่วยต่อต้านยาเสพติด และเน้นการกลับไปพัฒนาชุมชนของด้วยเอง โดยตั้งแต่ปี 2549-2555 มีมหาวิทยาลัยทั่วทุกภาคเข้าร่วมโครงการจำนวน 18 แห่ง แต่ปัจจุบันเหลือ 8 แห่ง เพราะบางมหาวิทยาลัยอาจจะมีโครงการของมหาวิทยาลัยเอง โดยมีนักศึกษาเข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน 3,300 คน แบ่งเป็นภาคเหนือ มีนักศึกษาเข้าร่วมโครงการจำนวน 178 คน ใน 3 มหาวิทยาลัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 328 คนใน 3 มหาวิทยาลัย ภาคกลางและภาคตะวันตกจำนวน 1,632 คน ใน 5 มหาวิทยาลัย ภาคตะวันออก จำนวน 461 คน ใน 3 มหาวิทยาลัย และภาคใต้ จำนวน 687 คน ใน 4 มหาวิทยาลัย
      
       “การลงนามครั้งนี้เป็นความต่อเนื่องของโครงการ เพราะที่ผ่านมาหลังจากเริ่มโครงการ ก็มีการประสานไปยังเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต มัธยมศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะให้เขตพื้นที่ประสานไปยังทุกโรงเรียนในสังกัดในประชาสัมพันธ์ในวิชาแนะแนวในเด็กๆ ได้ทราบ และทางโรงเรียนก็เป็นผู้ติดตาม พฤติกรรมของเด็ก แต่ละคนซึ่งไม่ได้ดูแค่เทอมเดียว แต่ต้องดูกันนานๆ ดังนั้น เด็กดีที่จะได้เข้าร่วมโครงการ จะต้องไม่ใช่แค่เป็นคนดีเพียงเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยเท่านั้น การลงนามครั้งนี้จึงเป็นการย้ำความต่อเนื่องของโครงการ และเพื่อให้โครงการดีๆ ยังอยู่ต่อไป” น.ส.วีณา กล่าว
      
       ด้าน นายสมคิด กล่าวว่า ทปอ.มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับโครงการส่งเสริมนักเรียนผู้มีคุณธรรม จริยธรรม และบำเพ็ญประโยชน์เข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งโครงการนี้ถือเป็นต้นแบบที่ดีที่ตนคิดว่ามหาวิทยาลัยทั้งหลายก็อยากจะปรับให้นักศึกษามีความรู้และมีคุณธรรมด้วย ความจริงระยะเวลา 4 ปีที่อยู่ในมหาวิทยาลัยเป็นช่วงที่ไม่ยากนักที่จะปรับในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ให้เด็กสามารถเป็นคนที่จบมหาวิทยาลัยแล้วไปรับใช้ประเทศชาติ รับใช้ส่วนรวมที่ดีได้ทั้งหมด ดังจะเห็นได้จากปรากฏการณ์ของประเทศในปัจจุบัน ที่คนจบมหาวิทยาลัยแล้วมาสร้างปัญหาให้มากมายหลายๆ เรื่องด้วยกัน จึงเชื่อว่าโครงการนี้จะทำให้มหาวิทยาลัยได้เด็กที่เข้ามาเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดี
      
       ขณะที่ ดร.วรากรณ์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่ดี สถาบันอุดมศึกษาทุกภาคส่วนควรสนับสนุนเด็กที่ทำความดี และรู้สึกดีใจที่ระดับนโยบายเห็นความสำคัญและเปิดช่องทางความสามารถพิเศษในเรื่องของการเป็นเด็กดี ทั้งๆ ที่มีช่องทางเหล่านี้อยู่แล้ว แต่จะเน้นการรับนักศึกษาในโควตาพิเศษด้านกีฬา และโควตาใกล้บ้าน โดยที่ผ่านมา ตั้งแต่ยังเป็นทบวงมหาวิทยาลัยมีหลายมหาวิทยาลัยมีแนวคิดริเริ่มที่จะทำโครงการดังกล่าว ซึ่งจะใช้เกณฑ์คัดเลือกทั้งความเป็นเด็กดี รวมกับผลการเรียน โดยที่นักเรียนไม่ต้องสอบแข่งขัน แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการ เนื่องจากในเวลานั้นมักเกิดคำถามว่าจะประเมินผลอย่างไร และจะทำให้เป็นที่ย่อมรับและเชื่อถือได้อย่างไร แต่ครั้งนี้ สพฐ.ได้ทำการศึกษาวิจัยเชิงประจักรที่ชัดเจน พบว่า นักเรียนที่เข้ามาในโครงการเด็กดี มีผลการเรียนดีกว่านักเรียนที่เข้ามหาวิทยาลัยแบบรับตรง และในระบบอื่นๆ
      
       “นักเรียนที่เข้าโครงการเด็กดีส่วนใหญ่ มีคุณลักษณะที่สามารถสร้างผลสัมฤทธิ์ที่ดีทางการเรียนอยู่แล้ว เมื่อเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยก็จะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนอื่นๆ อนาคตหวังว่าสถาบันอุดมศึกษาจะสนับสนุนส่งเสริมโครงการนี้ต่อไป เพื่อที่สังคมจะได้มีทั้งคนเก่งและคนดี” ดร.วราภรณ์ กล่าว

กด Like แล้วติดตามการอัพเดตได้ในหน้าแรกFacebook ตลอด "รับตรง@Admissions"

ติดต่อ-สอบถาม พูดคุยกันจ้า